ประวัติความเป็นมาโดยย่อ

ปี พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย ศ.นพ.ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ และคณะได้ทาบทามโรงพยาบาลอุตรดิตถ์เข้าร่วมใน โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ซึ่งต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 นพ.สุจริต ศรีประพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารโครงการ ผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท และ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชม โรงพยาบาลอุตรดิตถ์เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก

ในปี พ.ศ. 2541 ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลนครสวรรค์ ขอยกเลิกโครงการรับนิสิตแพทย์ จำนวน 30 คน จากมหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) จึงติดต่อให้โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ดำเนินการแทนมีการแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการบริหารโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติให้โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ เข้าร่วมเป็นโรงพยาบาลในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทและมีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการ

ต่อมาในปี พ.ศ.2543 สำนักงานบริหารโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทให้ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ เปิดรับสมัครและสอบสัมภาษณ์แพทย์ผู้ทำสัญญาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนแพทย์พี่เลี้ยงเป็นรุ่นแรก เพื่อช่วยเหลืออาจารย์แพทย์ในการจัดการเรียนการสอน

หลังจากนั้น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ก็เข้ามามีส่วนช่วยเหลือในด้านการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาอาจารย์แพทย์และบุคลากรร่วมกัน การพัฒนาห้องสมุด รวมทั้งชี้แจงนโยบายด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ฯลฯ และต่อมาได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก  เป็นรองคณบดีฝ่ายคลินิกคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งลักษณะพิเศษของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท คือ

  1. คัดเลือกนักเรียนจากชนบทให้เรียนในภูมิภาคและให้กลับไปทำงานที่ภูมิลำเนาเดิม
  2. กระจายโอกาสให้นักเรียนในชนบทได้ศึกษาวิชาแพทย์มากขึ้น
  3. การเรียนการสอนแบ่งออกเป็น
    • การศึกษาระดับเตรียมแพทย์ และปรีคลินิก ชั้นปีที่ 1 – 3 จะศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์และ/หรือคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย
    • การศึกษาระดับคลินิก ชั้นปีที่ 4 – 6 จะศึกษาและฝึกงานภายใต้ศูนย์แพทยศาสตรศึกษา ชั้นคลินิกในโรงพยาบาลศูนย์

ลักษณะของการชดใช้ทุนคือ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องปฏิบัติงานในภูมิลำเนาเดิมไม่น้อยกว่า 3 ปี หากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้จะต้องชดใช้ทุนให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตามที่กำหนดภาพหลักของบัณฑิตแพทย์ในโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท คือ “เป็นแพทย์ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่กำหนดล่าสุดโดยแพทยสภา และเน้นหนักให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ มีประสบการณ์ และมีเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติงานในชนบท และพร้อมที่จะให้บริการ สาธารณสุขเชิงรุกแก่ประชาชนทั้งชุมชน”

โดยมี นายแพทย์เฉลิม  ศักดิ์ศรชัย  เป็นผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ คนแรก ผศ.(พิเศษ)นพ.กฤช จารุชาต เป็นผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ คนที่ 2 และ ผศ.(พิเศษ)ดร.นพ.วัชรพล  ภูนวล เป็นผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ คนปัจจุบัน